การตรวจเลือดในสุนัขที่มีปัญหาโรคผิวหนัง
คำเตือน: บทความนี้ คลินิกบ้านรักสัตว์ (ศูนย์โรคภูมิแพ้ และโรคผิวหนังของสัตว์เลี้ยง) ทำขึ้นเพื่อให้เป็นความรู้เบื้องต้น และให้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านเกี่ยวการเจาะเลือดตรวจ และวัตถุประสงค์ของการตรวจเลือดเท่านั้น บทความนี้จะไม่กล่าวถึงวิธีการแปลผลเลือด (ซึ่งต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้ประเมินเท่านั้น) และไม่กล่าวถึงการตรวจเลือดแบบพิเศษที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ นอกจากนี้การตรวจเลือดเป็นเพียงแค่ตัวช่วยสัตวแพทย์ในการประเมินปัญหา วินิจฉัยและติดตามการรักษาเท่านั้น ไม่ได้เป็นเครื่องมือวิเศษที่จะสรุปได้ทุกอย่าง
การตรวจเลือดในสุนัขที่มีปัญหาโรคผิวหนัง
โดยทั่วไป การตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยจะไม่ค่อยได้ทำในสุนัขที่มีปัญหาโรคผิวหนัง ยกเว้นการเจาะเลือดเพื่อทำ allergy test, การเจาะเลือดตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากภายในร่างกายแล้วมาแสดงออกที่ผิวหนังเช่น โรคการทำงานของต่อมไทรอยด์บกพร่อง(Hypothyroidism), กลุ่มอาการการทำงานมากว่าปกติของต่อมหมวกไต(Cushing’s syndrome), Hepatocutaneous syndrome, หรือ Superficial necrolyltic dermatitis ซึ่งเกิดจากโรคตับ
สำหรับการตรวจเลือดที่ทำในสุนัขที่มีปัญหาโรคผิวหนังส่วนใหญ่มักทำในกรณีติดตามหรือประเมินผลข้างเคียงของยาที่ต้องให้เป็นระยะเวลานาน และ/หรือมีผลข้างเคียงสูงเช่นยา ciclosporin, olacitinib, สเตียรอด์เช่น Prednisolone, Dexamethasone, Tiamcinolone เป็นต้น ซึ่งสัตวแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป
โดยทั่วไปเราเจาะเลือดเพื่อประเมินสิ่งต่างต่อไปนี้
1 การตรวจ CBC หรือ Complete Blood Count การตรวจนี้จะทำเพื่อประเมินสภาวะ การสูญเสียน้ำของร่างกาย ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ ความสามารถในการจับตัวของเลือด และประเมินสภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ณ เวลานั้น การตรวจCBC เป็นการตรวจที่สำคัญในสัตว์ที่มีอาการไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย อ่อนแรง ซีด เบื่ออาหาร ในใบรายงานผลตรวจจะแจ้งค่าต่างที่สำคัญดังนี้
+HCT หรือ Hematocrit หรือที่หมอและบุคคลากรทางการแพทย์เรียกย่อๆว่าคริต ค่านี้จะบอกเป็นเปอร์เซนต์ของเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยสัตวแพทย์ประเมินสภาวะโลหิตจาง และการขาดน้ำ
+Hb(Hemoglobin) และ MCHC(Mean Corpuscular Hemoglobin concentration) จะเป็นตัวช่วยในการประเมินความสามารถในการพาออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกาย
+WBC(White Blood Cell Count) จะใช้ในการประเมินเซล์ของระบบภูมิคุ้มกัน(เม็ดเลือดขาว) ค่าเลือดนี้จะเปลี่ยนแปลงในรายที่มีการติดเชื้อ หรือโรคบางชนิด
+Neut(Neutrophil) เป็นตัวเม็ดเลือดขาวที่ใช้ประเมินการติดเชื้อ
+Lymph(Lymphocyte) เป็นตัวเม็ดเลือดขาวที่ใช้ประเมินความสามารถในการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน
+Eos(Eosinophil) เป็นเม็ดเลือดขาวที่มักมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในรายที่มีปัญหาภูมิแพ้ หรือมีปรสิตในร่างกาย
+Plt(Platelets) หรือเกล็ดเลือด จะช่วยบอกถึงความสามารถในการห้ามเลือดของตัวสัตว์นั้นๆ
+Retic(Reticulocyte) หรือเม็ดเลือดแดงที่ยังไม่พัฒนาตัวเต็มที่ จะช่วยให้เราทราบชนิดของโลหิตจางในสัตว์ป่วยนั้นๆ
2การตรวจวัดค่าเคมีในเลือด (Blood/Serum Chemistry) จะช่วยในการประเมินการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย ภาวะของอีเลคโตรไลท์ต่างๆ ระดับของฮอร์โมน ค่าต่างๆเหล่านี้จะใช้ช่วยในการประเมินสุขภาพก่อนการได้รับการวางยา-ผ่าตัด การได้รับสารพิษ สุขภาพโดยรวม และติดตามผลของการได้รับยาเป็นเวลานานๆ
+ การประเมินปริมาณของน้ำในร่างกาย การติดเชื้อ สภาพโดยรวม เรามักจะดูจาก:
++ALB (Albumin) หรือโปรตีนไข่ขาว เป็นโปรตีนในซีรั่มที่สามารถใช้ในการประเมินปริมาณน้ำในร่างกายได้ รวมถึงสามารถใช้ในการประเมินสุขภาพของลำไส้ ตับและไตได้
++TP (Total Protein) จะบ่งบอกถึงปริมาณน้ำในร่างกาย และข้อมูลสุขภาพของตับ ไต รวมถึงสภาวะการติดเชื้อได้
++GLOB (Globulin) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดที่มักมีค่าสูงขึ้นในรายที่ติเชื้อเรื้องรัง
+การประเมินสุขภาพของตับ โดยตัวที่เราใช้ดูเป็นตัวหลักได้แก่:
++ALK หรือ AP หรือ ALP (Alkaline Phosphatase) เป็นค่าตับที่บ่งบอกว่ามีปัญหา Cushing’s disease (โรคที่เกิดจากการสร้างสเตียรอยด์ในร่างกายที่มากเกินไป) การได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (ถ้าสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญมากพอ) หรือในลูกสัตว์หรือเด็กที่มีการเจริญเติบโตของกระดูก
++ALT (Alanine Transaminase) เป็นค่าเลือดที่บอกถึงความเสียหายของเนื้อตับ และเป็นตัวช่วยในการประเมินการทำงานของตับ
++AST (Aspartate Transaminase) เป็นค่าเลือดที่บอกว่าน่าจะเกิดความเสียหายต่อเนื้อตับ กล้ามเนื้อหัวใจ หรือกล้ามเนื้อ
++GGT (Gamma Glutamyl Transaminase) จะขึ้นสูงในรายที่มีโรคตับ หรือมีสเตียรอยด์ในเลือดมากเกินไป
++TBIL (Total Bilirubin) จะขึ้นสูงในรายที่มีปัญหาเรื่องระบบน้ำดีที่ตับหรือท่อน้ำดี อาจใช้ช่วยประเมินปัญหาของเม็ดเลือดได้ เช่นในรายที่มีปัญหาโลหิตจาง
++CHOL (Cholesterol) ใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคของต่อมไทรอยด์ ตับ ต่อมหมวกไต ตับอ่อนและโรคเบาหวาน (ถ้าสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญมากพอ)
+การประเมินสภาพของไต เราจะใช้ค่าเหล่านี้เป็นหลัก:
++BUN (Blood Urea Nitrogen) เป็นตัวฟ้องถึงการทำงานของไต ถ้าสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญมากพอ จะสามารถใช้ค่านี้ช่วยประเมินสภาวะการขาดน้ำ การทำงานของตับ โรคหัวใจ ภาวะช๊อคได้
++CREAT (Creatinine) จะบอกถึงการทำงานของไต
+การประเมินระดับน้ำตาลในเลือด เรามักตรวจจาก:
++GLU (Glucose / Blood Sugar) ถ้าขึ้นสูงมักบ่งชี้ถึงโรคเบาหวาน ถ้าต่ำอาจทำให้วูบ ถ้าพบความผิดปกติของค่านี้ (สัตวแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อมักจะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาที่มาของความผิดปกติ)
+การประเมินระดับเกลือแร่ในเลือด เรามักจะดู:
++Ca (Calcium) การเปลี่ยนแปลงของค่านี้เกิดได้ความเจ็บป่วยหลายๆโรค
++Cl (Chloride) และ Na (Sodium) มักต่ำในรายที่มีปัญหาโรค Addison’s Disease (โรคที่เกิดจากการสร้างสเตียรอยด์ในร่างกายน้อยเกินไป) หรือสูญเสียไปจากอาการอาเจียน หรือท้องเสีย สำหรับสัตวแพทย์ที่ชำนาญมากๆ จะสามารถใช้ค่าสองตัวนี้ประเมินปริมาณน้ำในร่างกายได้
++K (Potassium) ค่านี้ถ้าลงต่ำในรายที่มีปัญหาอาเจียน ท้องเสีย หรือถ่าบปัสสาวะมากกว่าปกติ ถ้าขึ้นสูงอาจบอกว่ามีปัญหาไตวาย การอุดตันในไต หรือโรค Addison’s Disease เป็นต้น ระดับของ Potassium ในเลือดที่สูงมากๆอาจทำให้หัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) ได้
++P (Phosphorus) การสูงขึ้นของค่านี้มักพบในรายที่มีปัญหาโรคไต การมีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกิน และ/หรือรายที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด
+การประเมินปัญหาของตับอ่อน เรามักใช้ค่า:
++LIP (Lipase) ซึ่งถ้าสูงขึ้นจะบ่งชี้ถึงภาวะตับอ่อนอักเสบ
++AMYL (Amylase) ซึ่งจะสูงขึ้นในรายที่มีปัญหาตับอ่อนอักเสบ หรือโรคไต
3 การวัดระดับฮอร์โมน ในการตรวจโรคผิวหนัง เรามักตรวจฮอร์โมนต่อไปนี้เป็นหลัก
+ Cortisol เราจะใช้การตรวจฮอร์โมนเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบเพื่อการวินิจฉัยโรค Cushing’s Disease หรือ Addison’s Disease บางครั้งสัตวแพทย์ด้านโรคผิวหนัง หรือต่อทไร้ท่ออาจใช้ช่วยประเมินการเปลี่ยนแปลงอาการของสัตว์ป่วยเนื่องจากการได้รับยาตระกูลสเตียรอยด์ที่มากเกินไป
+T4 หรือ Thyroxine จะใช้ในการประเมินผลของให้ยาที่ใช้ในการรักษาสภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์